ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดสแรก ในวันเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เมื่อ7 มิ.ย. หลายรายได้รับนัดหมายให้ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในช่วงปลายเดือน ก.ย. หรือเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และอีกหลายประเทศที่เว้นระยะไว้สูงสุดที่ 12 สัปดาห์
แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์ระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค ณ เดือน มิ.ย. 2564 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์รัฐบาล แสดงข้อมูลของวัคซีนแต่ละชนิดที่มีการรายงานผลการศึกษาระยะที่ 3 ว่าต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ แต่ระบุไว้ด้วยว่า “กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ ถ้าจำเป็น”
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระยะการฉีดระหว่างโดสแรกและโดสที่สองอยู่ที่ระหว่าง 8-12 สัปดาห์ ส่วนระดับภูมิคุ้มกันในระยะยาวหลังจากฉีดโดสแรกจะยาวแค่ไหนยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
ด้านกรมควบคุมโรค ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า การขยายเวลาออกไปเป็น 16 สัปดาห์ พิจารณาผลวิจัยเข็มแรกแอสตร้าเซนเนก้าว่ามีประสิทธิภาพ 80% ดังนั้น การยืดระยะห่างออกไปจะทำให้กระจายวัคซีนเข็มแรกได้มากขึ้น
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่าการขยายเป็น 16 สัปดาห์เป็นประโยชน์ต่อการคุมระบาดโดยรวมเช่นกัน แต่ย้ำข้อเสียว่า ประสิทธิภาพสู้การให้วัคซีนครบสองเข็มไม่ได้ โดยเฉพาะการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ชี้ว่าการยืดระยะห่างออกไปถึง 16 สัปดาห์ “น่ากังวล”
นพ. ธีระวัฒน์ เห็นว่าควรฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากถึง 90% ให้ครบสองเข็ม ภายใน 2 ถึง 2 เดือนครึ่ง เพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ อันจะมีผลต่อวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้